ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กินสารพิษหรือยาพิษ (Ingestion of poisons)สารพิษหรือยาพิษ ที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกินที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
1. ยา เช่น ยาที่ใช้ภายนอก (ทิงเจอร์ไอโอดีน ด่างทับทิม) ยาแก้ปวด (แอสไพริน พาราเซตามอล) ยานอนหลับ ยาถ่าย ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น
ยาพวกนี้ถ้ากินเข้าไปจำนวนมากอาจเป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
2. วัตถุเคมีที่ใช้ในบ้าน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาขัดพื้น แลกเกอร์ ทินเนอร์ น้ำมันก๊าด ดีดีที เป็นต้น
3. สารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช เป็นต้น
4. ยาพิษที่ใช้เบื่อสัตว์ เช่น ยาเบื่อหนูหรือสุนัข
5. สัตว์หรือพืชพิษ อ่านเพิ่มเติมใน พิษปลาปักเป้า พิษแมงดาถ้วย, พิษปลาทะเล, พิษหอยทะเล, พิษคางคก และพิษเห็ด
สาเหตุ
เด็กบางคนอาจกินสารพิษเพราะความไม่รู้ภาษาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ดื่มน้ำมันก๊าด หรือกินยาเม็ดที่มีสีสันสวย ๆ หรือกินยาน้ำที่ออกรสหวาน เป็นต้น
ผู้ใหญ่อาจกินสารพิษเพราะความเผอเรอ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจงใจที่จะฆ่าตัวตายได้
อาการ
อาการขึ้นกับชนิดและปริมาณของสารพิษ และระยะเวลาที่กิน
ในที่นี้จะกล่าวถึงสารเคมีที่อาจพบได้บ่อยเพียงบางชนิดเท่านั้น เช่น
ยานอนหลับกลุ่มบาร์บิทูเรต ถ้ากินเกินขนาดมาก ๆ จะทำให้ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว หายใจตื้นและช้า เหงื่อออก ตัวเย็น ตัวเขียว รูม่านตาโตและไม่หดเมื่อถูกแสง หมดสติ และตายในที่สุด
แอสไพริน ถ้ากินขนาดมาก ๆ ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis) จะมีอาการหายใจหอบลึก หน้าแดง ไข้สูง ปวดท้อง อาเจียน มีภาวะขาดน้ำ มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ชัก และหมดสติถึงตายได้
พาราเซตามอล ถ้ากินในขนาดมากกว่า 140 มก./กก. จะทำให้ตับถูกทำลายภายใน 24-48 ชั่วโมง เกิดภาวะตับแข็งหรือตับวายเฉียบพลันได้
ไอโอดีน (เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีนที่ใช้ใส่แผล) ทำให้ปากคอและหลอดอาหารไหม้และเจ็บ อาเจียนออกมาเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน กระหายน้ำ ท้องเดิน (อาจถ่ายเป็นเลือด) อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นลม และชัก
ด่างทับทิม ถ้ากินเกล็ดหรือน้ำด่างทับทิมเข้มข้นจะทำให้กัดเนื้อเยื่อในปาก กล่องเสียงบวม ชีพจรเต้นช้าและช็อก
เมนทอลหรือยูคาลิปตัส ทำให้อาเจียน ท้องเดิน หายใจตื้น ปัสสาวะเป็นเลือด ชัก และหมดสติ
กรดบอริก (boric acid) ทำให้มีไข้ขึ้น อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือด หน้าแดง ซึม ชัก ตัวเหลือง ตัวเขียว ไตถูกทำลาย ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ ถึงตายได้
ผงซักฟอก อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ้ามีส่วนผสมของด่าง ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร
น้ำมันก๊าด เบนซิน ทินเนอร์ ทำให้อาเจียน ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) วิงเวียน ชีพจรเบาและเต้นไม่สม่ำเสมอ ชัก ถ้าสำลักเข้าไปในปอดอาจทำให้ปอดอักเสบ
อาการเป็นพิษเรื้อรัง จะมีอาการปวดศีรษะ ซึม ตามัว มือเย็นและชา อ่อนเพลีย ความจำเสื่อมใจสั่น ความคิดสับสน ซีด เจ็บในปาก
สารพวกฟีนอล (phenol) เช่น กรดคาร์บอลิก (carbolic acid) เครซอล (cresol มีชื่อการค้า เช่น Lysol) เฮกซาคลอโรฟีน (hexachlorophene) เป็นต้น พวกนี้เป็นกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย กล้ามเนื้อชักเกร็ง ช็อก และการหายใจล้มเหลว
ฟอสฟอรัส (inorganic phosphorus) ซึ่งมีอยู่ในหัวไม้ขีดไฟ ทำให้เจ็บในปากและลำคอ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง ดีซ่าน ปัสสาวะออกน้อย มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนังและช็อก
ดีดีที จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามแขนขา กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุก ชัก และหมดสติ
ยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟต (organophosphate) เช่น พาราไทออน (parathion) มาลาไทออน (malathion) คาร์บาเมต (carbamate) เป็นต้น
มักมีอาการภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังกิน ด้วยอาการปวดศีรษะ เหงื่อออก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล อาเจียน ท้องเดิน กล้ามเนื้อเต้นกระตุก ชัก หอบ ตาลาย รูม่านตาหดเล็ก และอาจตายภายในเวลารวดเร็ว
พาราควอต (paraquat) ซึ่งมียาปราบวัชพืช ทำให้เกิดอาการชัก ปอดบวมน้ำ ตับวาย ไตวาย หัวใจวาย ภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน ในที่สุดจะมีอาการระบบหายใจล้มเหลว เนื่องจากเกิดเยื่อพังผืดในปอด
ถ้าขนาดเข้มข้น อาจกัดเยื่อบุหลอดอาหาร ทำให้ริมฝีปากและลำคอไหม้พองและเป็นแผล อาจทำให้หลอดอาหารเป็นแผลทะลุ
ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะช็อกจากหัวใจ (cardiogenic shock) และอวัยวะหลายระบบล้มเหลวภายใน 1-4 วัน
สตริกนิน (strychnine) ซึ่งมักทำเป็นยาเบื่อสุนัข ทำให้เกิดอาการชัก หลังแอ่น หายใจลำบาก น้ำลายฟูมปาก และขาดออกซิเจน
ไซยาไนด์ (cyanides) ซึ่งอาจมีอยู่ในยาเบื่อหนู จะทำให้ตัวเขียว หายใจลำบาก ความดันเลือดตก ถึงตายได้รวดเร็ว
สารปรอท ทำให้มีอาการน้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำ ปวดแสบปวดร้อนในปากและลำคอ เยื่อบุในช่องปากบวมและเปลี่ยนสี ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ถ่ายเป็นเลือด ไม่มีปัสสาวะออก เเละช็อก
ถ้าเป็นพิษเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เดินเซ มือสั่น ซึมเศร้า เป็นตะคริว
สารหนู (arsenic) อาการมักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังกิน (บางรายอาจนานถึง 12 ชั่วโมง) มีอาการปวดท้อง กลืนลำบาก อาเจียนติด ๆ กัน ท้องเดิน เป็นตะคริว ต่อมาจะรู้สึกกระหายน้ำอย่างรุนแรง และช็อก
เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้จุดไฟ (เป็นคนละชนิดกับเอทิลแอลกอฮอล์ซึ่งทำเป็นเหล้า เบียร์) เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง จุกแน่น คลื่นไส้ อาเจียน และตาบอด (เพราะประสาทตาถูกทำลาย) ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเขียว ชัก และหมดสติ
กรดหรือด่างอย่างแรง ทำให้ผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหารถูกกัดไหม้และอักเสบ มีอาการเจ็บในปากและลำคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด กลืนลำบาก หายใจลำบาก ช็อก
บางรายอาจมีการแตกทะลุของหลอดอาหารและกระเพาะ ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือหลอดอาหารเกิดการตีบตันจากการอักเสบได้
ภาวะแทรกซ้อน
ขึ้นกับชนิดของสารพิษ สารพิษร้ายแรงอาจมีผลต่อระบบประสาทและสมอง (ทำให้ชัก หมดสติ อัมพาต) ระบบเลือด (เลือดออก โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ทางเดินหายใจ (ปอดอักเสบ) ตับ (ตับอักเสบ ตับแข็ง) ทางเดินอาหาร (ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน) หรืออื่น ๆ บางชนิดอาจระคายเคือง (กัด) ต่อผิวหนังและเยื่อบุของทางเดินอาหาร เช่น สารที่เป็นกรดหรือด่างอย่างแรง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ สิ่งตรวจพบ และประวัติการสัมผัสสารพิษ
การรักษาโดยแพทย์
เมื่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน และให้กินผงถ่านกัมมันต์เช่นเดียวกับที่แนะนำไว้ในเรื่องการปฐมพยาบาล (อ่านเพิ่มเติมที่ "การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ" ในหัวข้อ การดูแลตนเอง ด้านล่าง)
2. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ ห้ามทำในรายที่หมดสติ ชัก หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์
3. ให้การรักษาตามอาการ เช่น
ถ้ามีภาวะขาดน้ำ ช็อกหรือหมดสติ ให้น้ำเกลือ
ถ้าหายใจลำบากหรือตัวเขียว ให้ออกซิเจนและอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ ในรายที่กินพาราควอต ไม่ควรให้ออกซิเจน นอกเสียจากผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนรุนแรง เพราะออกซิเจนส่งเสริมให้เกิดภาวะเป็นพิษจากพาราควอต
ถ้ามีภาวะปอดบวมน้ำ (ผู้ป่วยมีอาการหอบและฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ) ให้ฉีดฟูโรซีไมด์ 1-2 หลอด เข้าหลอดเลือดดำ
ถ้าชัก ฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก. เข้าหลอดเลือดดำ
ถ้ามีภาวะเลือดเป็นกรด ฉีดโซเดียมไบคาร์บอเนต
ถ้ามีภาวะไตวาย อาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไต (dialysis)
ถ้ามีการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ
4. ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
ถ้าเกิดจากยาฆ่าแมลงประเภทออร์เเกโนฟอสเฟต (ผู้ป่วยจะมีรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้าง) แพทย์จะฉีดอะโทรพีนเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำทุก 5-10 นาที จนกระทั่งรูม่านตาขยาย และมีอาการคอแห้ง หลังจากนั้นให้ยาต้านพิษ ได้แก่ พราลิดอกไซม์ (pralidoxime) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ถ้าอาการหายใจยังไม่ดีขึ้นให้ฉีดซ้ำได้ในอีก 30 นาทีต่อมา (สำหรับผู้ป่วยที่กินคาร์บาเมตไม่จำเป็นต้องให้พราลิดอกไซม์)
ถ้าเกิดจากสารหนู ให้ยาต้านพิษได้แก่ ไดเมอร์เเคปรอล (dimercaprol) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ถ้าเกิดจากดีดีที นอกจากสวนล้างกระเพาะด้วยน้ำอุ่นแล้ว ควรให้กินยาระบาย ได้แก่ โซเดียมซัลเฟต (sodium sulfate) ขนาด 30 กรัมในน้ำ 200 มล. และให้กินฟีโนบาร์บิทาลเพื่อสงบประสาท
ถ้าเกิดจากการกินพาราเซตามอลเกินขนาด ให้อะเซทิลซิสเตอีนกินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
การรักษาขั้นพื้นฐาน (ที่สถานพยาบาล) สำหรับผู้ป่วยที่กินสัตว์หรือพืชพิษ
1. ถ้าผู้ป่วยกินสัตว์หรือพืชพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังไม่อาเจียน รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการให้ไอพีเเคกน้ำเชื่อมหรือใช้นิ้วล้วงคอ
2. ให้ผู้ป่วยกินผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1 แก้ว โดยให้ผู้ป่วยดื่มเอง ถ้าอาเจียนหรือดื่มเองไม่ได้ ให้ป้อนผ่านท่อสวนกระเพาะ (stomach tube) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ควรใส่ท่อช่วยหายใจก่อนเพื่อป้องกันการสำลัก
ควรให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย (วิธีนี้จะได้ผลมากที่สุดเมื่อให้กินภายใน 30 นาทีหลังกินสัตว์หรือพืชพิษ) ไม่ควรให้ก่อนหรือหลังให้ยาที่ทำให้อาเจียน
ในรายที่รับพิษร้ายเเรง เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย เห็ดพิษร้ายแรง หรือสงสัยรับพิษปริมาณมาก ควรให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง
3. ทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำ
วิธีนี้จะได้ผลดีเมื่อผู้ป่วยกินสารพิษมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการอาเจียน ถ้าทำหลังกินสารพิษมากกว่า 4 ชั่วโมง อาจไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มกับผลข้างเคียง (ที่สำคัญคือการสำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ)
ควรกระทำโดยบุคลากรที่ชำนาญ และในที่ที่มีความพร้อม
ไม่จำเป็นต้องทำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก และห้ามทำในผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัว หมดสติ
อาจให้ผงถ่านกัมมันต์กินก่อนล้างกระเพาะ หรือผสมผงถ่านกัมมันต์ในน้ำล้างกระเพาะก็ได้
4. ให้ผู้ป่วยดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนต ขนาด 2-5% จำนวน 50 มล.
5. ให้กินยาระบาย ซอร์บิทอล (sorbitol) ขนาด 70% อาจกินเดี่ยว ๆ หรือผสมกับผงถ่านกัมมันต์แทนน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีอาจให้ยาระบายอื่น ๆ เช่น ยาระบายแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) แทน ให้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
ห้ามทำ ในรายที่มีอาการถ่ายท้องมากอยู่แล้ว หรือมีภาวะขาดน้ำที่ยังไม่ได้รับการทดแทน
6. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
7. ถ้าชักฉีดไดอะซีเเพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ
8. ถ้าหยุดหายใจหรือหายใจไม่ได้ ให้ทำการช่วยเหลือด้วยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ
9. ถ้าหมดสติ ให้การรักษาแบบหมดสติ
การดูแลตนเอง
หากสงสัยว่าผู้ป่วยกินสารพิษหรือยาพิษ ควรทำการปฐมพยาบาล แล้วรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
การปฐมพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่กินสารพิษ สัตว์พิษ หรือพืชพิษ
1. รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อขับพิษออก
ถ้ามียากระตุ้นอาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม (syrup ipecac) ให้กินครั้งละ 15-30 มล. (เด็กโต 15 มล.) และดื่มน้ำตามไป 1 แก้ว ถ้ายังไม่อาเจียนใน 20 นาที กินซ้ำได้อีก 1 ครั้ง
ถ้าไม่มียา ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 1 แก้ว แล้วใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอกระตุ้นให้อาเจียน ถ้าไม่ได้ผลทำซ้ำอีกครั้ง
ควรเก็บเศษอาหารที่อาเจียน ไว้ส่งตรวจวิเคราะห์
วิธีนี้จะได้ผลดี ต้องรีบทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินสารพิษ และไม่ต้องทำหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนเองอยู่แล้ว
ห้ามทำ ในผู้ป่วยที่ชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ หรือกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ หรือสารพิษไม่ทราบชนิด
2. ถ้ามีผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ให้กินขนาด 1 กรัม/กก. โดยผสมน้ำ 1/2-1 แก้ว เพื่อลดการดูดซึมสารพิษเข้าร่างกาย (ไม่ต้องทำถ้าผู้ป่วยกินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด ทินเนอร์)
ถ้าไม่มีผงถ่านกัมมันต์ ให้กินไข่ดิบ 5-10 ฟอง หรือดื่มนมหรือน้ำ 4-5 แก้ว
3. สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้กินสารละลายดินเหนียว (Fuller’s earth) โดยผสมผงดินเหนียว 150 กรัม หรือ 2 1/2 กระป๋อง ในน้ำ 1 ลิตร ถ้าไม่มีให้ดื่มน้ำโคลนดินเหนียวจากท้องร่องในสวน (ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว หรือสารพิษตกค้าง) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ได้
4. สำหรับผู้ที่กินปลาปักเป้า แมงดาถ้วย ปลาทะเลพิษ หอยทะเลพิษ เห็ดพิษ ให้ดื่มโซเดียมไบคาร์บอเนตขนาด 2-5% จำนวน 50 มล. (อาจเตรียมโดยผสมผงฟู 1-2.5 กรัม ในน้ำ 50 มล.) ซึ่งจะช่วยลดพิษของอาหารพิษได้
ห้ามทำ ข้อ 2-4 ถ้าผู้ป่วยชัก ไม่ค่อยรู้ตัวหรือหมดสติ
5. ถ้าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
6. ถ้าผู้ป่วยชักหรือหมดสติ ให้ทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยชัก (อ่านใน "โรคลมชัก" เพิ่มเติม) หรือหมดสติ (อ่านใน "อาการหมดสติ" เพิ่มเติม)
7. รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์ด้วย
การป้องกัน
1. ควรป้องกันมิให้เด็กหยิบยาหรือสารเคมีกินเอง โดยเก็บยาและสารเคมีให้มิดชิด หรือไว้ในที่สูงเกินกว่าเด็กจะหยิบถึง
2. ควรป้องกันการหยิบยาผิด หรือกินถูกสารพิษด้วยความเผอเรอ โดย
เก็บยาไว้ในที่มิดชิด หรือไว้ในตู้ยาที่เด็กหยิบเองไม่ได้
เขียนฉลากยาให้ชัดเจน
สารเคมีที่มีพิษควรเก็บไว้เป็นที่เฉพาะ และปิดให้มิดชิด อย่าปะปนกับอาหารที่กิน หรือวางอยู่ในตู้กับข้าว
ข้อแนะนำ
1. ผลการรักษาขึ้นกับชนิดและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ สภาพของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค
ถ้าหากได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสรอดได้
2. ผู้ที่ได้รับสารพิษมักมีอาการแสดงภายใน 36 ชั่วโมง ถ้าหลัง 36 ชั่วโมงไปแล้วยังไม่มีปรากฏอาการก็ถือว่าปลอดภัย