หมอประจำบ้าน: การป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ บีวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงและป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ได้แก่
รับวัคซีนป้องกัน การรับวัคซีนป้องกันสามารถช่วยป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี รวมไปถึงโรคอันตรายต่าง ๆ ที่อาจตามมาหลังการติดเชื้อ เช่น มะเร็งตับและตับแข็ง ซึ่งการได้รับวัคซีนจะช่วยให้มีภูมิต้านทานในระยะยาวหรืออาจถึงตลอดชีวิตได้
ในเด็ก ปกติควรได้รับวัคซีนตับอักเสบ บี 3 เข็ม เข็มที่ 1 เมื่อแรกเกิด เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6-18 เดือน
วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนั้นมีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ ควรได้รับวัคซีนด้วย
ป้องกันทุกครั้งที่จะมีเพศสัมพันธ์ เช่น การสวมถุงยางอนามัย
ระมัดระวังตัวเองเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะ
ใส่ถุงมือเวลาที่ต้องสัมผัส หรือต้องทำความสะอาดสารคัดหลั่งจากร่างกาย เช่น ผ้าพันแผล ผ้าอนามัย หรือเสื้อผ้า
ควรปิดบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือในผู้ที่เป็นพาหะ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ไปสู่ผู้อื่น
ไม่ควรใช้มีดโกน แปรงสีฟัน ที่ตัดเล็บ หรือต่างหู ร่วมกับผู้อื่น เพราะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย
ระมัดระวังหากจะเจาะหู หรือสักลาย ต้องแน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ทางร้านใช้สะอาด ฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
หากพบว่าตัวเองมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะการได้รับการรักษาป้องกันอย่างทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมงจะช่วยลดความเสี่ยงของในการติดเชื้อและอาการอื่น ๆ ที่ตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนของ ไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ในบางรายอาจพัฒนาเป็นโรคตับที่มีความรุนแรงได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจนเป็นระยะเรื้อรัง (Chronic) ซึ่งอาจเกิดโรคดังต่อไปนี้
- โรคตับแข็ง (Cirrhosis) จะเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง มีการอักเสบของตับจนเกิดเป็นพังผืดและดำเนินไปจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของตับเสื่อมสภาพลง
- มะเร็งตับ ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งอันมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบ บี มีโอกาสพัฒนาไปจนเป็นมะเร็งตับได้ ซึ่งในทุก ๆ ปี จะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ประมาณ 1 ใน 20 โดยอาจพบว่ามีอาการได้แก่ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือตาเหลือผิวเหลือง (ดีซ่าน) เป็นต้น
- ภาวะตับวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน อย่างน้อย 1 ใน 100 คน มีโอกาสที่จะดำเนินไปสู่ตับวายเฉียบพลันได้ การเกิดตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะของส่วนการทำงานของตับที่มีความสำคัญได้หยุดทำงานลง หากเกิดขึ้นแล้วมีความจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายตับเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบ บี อาจมีโรคเกี่ยวกับไต การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะโลหิตจาง ร่วมด้วย